ประเภทของฟิล์มกรองแสงติดรถยนต์
ข้อดี ของการติดฟิล์มกรองแสงนั้นสามารถจำแนกได้เป็นรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ซึ่งจุดประสงค์หลักในการติดฟิล์มกรองแสงสำหรับรถยนต์นั้นมี 2 ส่วนคือ
- 1. ช่วยกันความร้อนเข้ามายังภายในห้องผู้โดยสาร
- 2. ช่วยในการลดแสงจ้าที่ผ่านกระจกเข้ามาทำให้การขับขี่สะดวกสบายมากขึ้น
- 3. ช่วยให้แอร์ทำงานน้อยลง
นอกจากนั้น การติดฟิล์มกรองแสงยังเป็นการประหยัดพลังงาน ลดการใช้ความเย็น และช่วยถนอมรักษาอุปกรณ์ภายในตัวรถ แถมยังเป็นการป้องกันการโจรกรรม หรืออุบัติเหตุ(กรณีติดตั้งฟิล์มนิรภัย) ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นผลพลอยได้จากการเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงชนิดต่าง ๆ
ความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการเลือกใช้ฟิล์มกรองแสงนั้นจะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ฟิล์มที่เหมาะสมกับสถานการณ์ หรือรถยนต์ที่ใช้อยู่ ให้เกิดประโยชน์ต่างๆได้มากมาย แต่จากที่เห็นได้ทั่วๆไป ไม่ว่าจะเป็นราคาติดตั้งฟิล์มที่แตกต่างกัน ฟิล์มกรองแสงก็เปรียบเสมือนแผ่นพลาสติกที่มีสีต่างๆ กัน มาติดที่กระจกรถยนต์เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว เมื่อคุณนำรถคันโปรดมาติดฟิล์มกรองแสง คุณควรจะทราบเบื้องต้นเกี่ยวกับชนิดของฟิล์มกรองแสง
1. ฟิล์มย้อมสี (Dyed Film)
เป็นฟิล์มที่ผลิตจากการใช้สีมาเคลือบติดบนแผ่นโพลีเอสเตอร์ ความสามารถในการกรองคลื่นความร้อนน้อยมาก ไม่ถึง 20% เป็นฟิล์มที่มีราคาถูกที่สุด ไม่มีความคงทน อายุการใช้งานไม่เกิน 1 ปี ก็จะเปลี่ยนสี, จางลง และโป่งพองได้ มักจะถูกใช้เป็น”ฟิล์มแถม” แต่หากจะติดเพียงเพราะต้องการบดบังไม่ให้บุคคลภายนอกมองเข้ามาในรถก็ถือว่าพอใช้ได้
2. ฟิล์มเคลือบละอองโลหะ (Metal Reflective Film)
เป็นฟิล์มที่ผลิตโดยการใช้ไอของโลหะ ซึ่งเกิดจากเตาเผาโลหะมาเคลือบบนแผ่นโพลีเอสเตอร์ (Evaporation) ทำให้ฟิล์มประเภทนี้สามารถกันคลื่นความร้อนได้ดีกว่าแบบแรกมาก ถึงประมาณ 50-90% แต่จะมีความมันวาวของสีโลหะด้วย โดยทั่วไปภาษาทางตลาดฟิล์มกรองแสงเรียกฟิล์มชนิดนี้ว่า ฟิล์มปรอท(แต่ไม่ได้ใช้ปรอทในการผลิตจริง เพียงแต่ฟิล์มประเภทนี้จะออกลักษณะมีความเงา และมีสีเงินในตัว จึงถูกเรียกว่าฟิล์มปรอท) อายุการใช้งานคงทนกว่าประมาณ 5-7 ปี เหมาะกับการใช้กับรถยนต์ เพราะคุณภาพคุ้มค่า และมีราคาไม่แพง
3. ฟิล์มเคลือบอนุภาคโลหะ (Metal Sputtered Film)
เป็นฟิล์มที่ผลิตโดยใช้การเหนี่ยวนำของประจุไฟฟ้าในสุญญากาศให้อนุภาคโลหะไปเกาะติดบนแผ่นโพลีเอสเตอร์ ทำให้ได้ฟิล์มที่มีความคงทนมาก ลดความร้อนได้มากพอกันกับแบบที่ 2 ประมาณ 50-70% ฟิล์มประเภทนี้เหมาะสมกับการใช้ติดตั้งกระจกอาคารมากที่สุด และมีราคาค่อนข้างสูง
4. ฟิล์มซ้อนกันหลายชั้น (Multi-layer Film)
เป็นฟิล์มที่ใช้หลักการซ้อนกันของชั้นฟิล์มในกระบวนการผลิต จำนวนชั้นและเทคโนโลยีต่างกันตามความสามารถของผู้ผลิต เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพในการลดความร้อน หรือเพื่อความเป็นนิรภัย ฟิล์มกรองแสงประเภทนี้เหมาะสมกับการใช้ติดตั้งกระจกทั้งอาคาร และรถยนต์ อย่างไรก็ตามตัวฟิล์มชนิดนี้จะมีราคาค่อนข้างสูง